เสื้อยืดสุดฮอตกับเหล่าดารา เซเลป ที่ชื่นชอบ

สไตล์การแต่งตัวชายผิวคล้ำ
เหล่าดารา เน็ตไอดอล เซเลบกับเสื้อวงร็อคในตำนาน เสน่ห์ของเสื้อผ้าแฟชั่นเสื้อวงที่ใส่แล้วคุณจะหลงรัก

.
หนึ่งในเทรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นที่มาแรงแซงขึ้นเป็นอันดับหนึ่ง ณ เวลานี้ คือ เสื้อยืด เสื้อวินเทจวงร็อคระดับตำนาน เป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่น ดารา ซุปตาร์ เซเลบ เน็ตไอดอล ท็อปโมเดลทั้งเมืองนอกและในเมืองไทย เสื้อยืดวงดนตรีร็อคสุดเท่เหล่านี้ ถือกำเนิดคู่กับเพลงร็อคมายาวนานตั้งแต่ปลาย '70 '80 มาจนถึง '90 ถูกเรียกสั้น ๆ ว่า เสื้อวง
.
กระแสที่ดาราซุปตาร์ระดับโลกหลายคนใส่เสื้อวงเสื้อวินเทจ จนเป็นที่สนใจจับตามองจากสื่อ เช่น Kanye West, Kim Kardashian, Justin Bieber, Rihanna, Avril Lavigne ใส่กันจนเกิดกระแสตามหาเสื้อลายนั้น เพื่อใส่ตามซุปตาร์ ดารา นักร้อง ที่ตนชอบ
.
ส่วนซุปตาร์ไทยเองก็ไม่น้อยหน้า หลาย ๆ คนมีความชื่นชอบ หลงไหลในเสน่ห์ของเสื้อวงเช่นกัน เช่น ชมพู่ อารยากับเสื้อวง Metallica, เสื้อวง Ramone และ เสื้อวง ACDC, ใหม่ ดาวิกากับเสื้อวง Rolling Stone, ตูน บอดี้แสลม กับเสื้อวง Megadeth, พลอย เฌอมาลย์ กับเสื้อ Metallica, ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์ กับเสื้อวง Kiss, URBOYTJ กับเสื้อวง Iron Maiden และ เสื้อวง Nirvana, มาริโอ้ เมาเร่อ กับเสื้อ Iron Maiden, โทนี่ รากแก่นกับเสื้อวง Gun N' Roses, แจ๊ส ชวนชื่น กับเสื้อ Nirvana, โตโน่ ภาคิน กับเสื้อวง Misfits และ เจมส์ ธีรดนย์ กับเสื้อ Gun N'Roses เสื้อเหล่านี้ เป็นเสื้อที่ผลิตในยุค '70 ไล่มาจนถึงยุคปัจจุบัน เสื้อวงที่ได้รับความนิยมมาก ๆ จะเป็นเสื้อที่ผลิตในปีเก่า ๆ '70 - '90 ผลิตใน USA บ้าง ส่งออกไปผลิตประเทศใกล้เคียงบ้าง เช่น Mexico
.
เสื้อวินเทจของวงดนตรีร็อคเหล่านี้ มีราคาตั้งแต่ถูกสุดหลักร้อย ไปจนถึงหลักหลายแสนบาท ตัวอย่างเช่น ราคาเสื้อ Nirvana 250000 บาท เริ่มผลิตออกมาตั้งแต่ยุค '70 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยเป็นเสื้อลิขสิทธิ์ของวงดนตรีนั้น ๆ นอกจากเสื้อวง ยังมีเสื้อทัวร์คอนเสิร์ตหรือเสื้อทัวร์ที่ผลิตขึ้นเพื่อจำหน่ายเวลาออกเวิลด์ทัวร์ และเสื้อ souvenir ที่ผลิตตามวาระพิเศษ นักสะสมมักจะซื้อเสื้อเก็บเป็นที่ระลึกลายวงดนตรีที่ชื่นชอบ เสื้อวงที่เป็นที่นิยมของแฟนเพลงและนักสะสม เช่น เสื้อของวง Metallica, Iron Maiden, Nirvana, Kiss, The rolling Stone, Gun N' Roses, Sex Pistol, Pink Floyd, Def Leppard, Megadeth ฯลฯ
.
เสื้อเหล่านี้จะมีดีไซน์เนอร์ ออกแบบมาอย่างสวยงาม บางครั้งใช้ดีไซน์เนอร์ที่มีชื่อเสียง เช่น เสื้อวง Iron Maiden ที่วาดโดย Derek giggs บ้างก็เป็นโลโก้อันโดดเด่นของวง บางลายก็ใช้ภาพถ่ายสมาชิกในวงขณะแสดงคอนเสิร์ต บางลายก็นำมาจากปกอัลบั้ม บางลายเป็นภาพวาดขึ้นมาใหม่มีมาสคอตของวงประกอบ ราคาเสื้อที่ซื้อขายกัน บางตัวพอรับไหว บางตัวแพงมหาโหดเกินกว่าจะครอบครองได้
.
ราคาของเสื้อวงขึ้นอยู่กับอะไร เรามาดูกันค่ะ
.
อย่างแรกที่ทำให้ราคาเสื้อตัวนั้นพุ่งสูงปรี๊ด คือ ระดับความหายากของเสื้อวงตัวนั้นค่ะ ยิ่งลายหายากในท้องตลาดราคายิ่งแพง ด้วยความเก่าแก่ของเสื้อที่ผลิตออกมาตั้งแต่ยุค '70 บางส่วนสูญหาย เก่าขาดไปตามกาลเวลา หรือ บางลายอาจจะผลิตออกมาไม่มาก บางลายนักสะสมเก็บไว้ในคอลเล็คชั่นไม่ปล่อยออกมา ทำให้ไม่เห็นในท้องตลาด ราคาเลยสูงมาก ๆ ค่ะ
.
อายุของตัวเสื้อ ถ้าผลิตในปีเก่า เช่น ยุคต้น '70 ถือว่ารุ่นดึก มีความเก๋า rare item ราคาจะสูงกว่าเสื้อที่เพิ่งผลิตใหม่เสื้อบางตัวทราบปีผลิต จากการดูปีที่สกรีนลงบนเสื้อ หรือที่เรียกว่าตอกปี ปียิ่งเก่าราคายิ่งสูง เสื้อที่ผลิตในปีต่ำกว่า 2000 จะถือว่าเป็นเสื้อวินเทจจะมีราคาในหมู่นักสะสม คุณค่ามากกว่าเสื้อวงมือสองธรรมดาที่ผลิตในระยะหลัง
.
กระแสในห้วงเวลานั้น ก็มีผลต่อราคาเสื้อ เช่น มีซุปตาร์ หรือเซเลบบางคนใส่เสื้อวงตัวนั้น ถ่ายภาพลงไอจี ยอดไลค์ถล่มทลาย ราคาเสื้อก็จะขยับขึ้นมากน้อยตามระดับความดังของซุปตาร์คนนั้น, สมาชิกในวงกลับมารียูเนี่ยนอีกครั้ง ออกทัวร์คอนเสิร์ต วงกลับมาได้รับความนิยมดังเปรี้ยงปร้างอีกครั้ง เสื้อวงก็จะกลับมาได้รับความนิยมเช่นกัน หรือ วงแตก ถึงคราวแยกย้าย สมาชิกเสียชีวิต เสื้อวงก็จะกลายเป็นอนุสรณ์ให้รำลึกถึง ราคาจะสูงขึ้นอัตโนมัติ เสื้อบางตัวศิลปินดังใส่ออกคอนเสิร์ท เช่น Kurt cobain ใส่เสื้อ Sonic Youth แสดงคอนเสิร์ตเป็นคอนเสิร์ตสุดท้ายก่อนเสียชีวิต เสื้อตัวนี้มีราคาหลักแสนในเวลาต่อมา เพราะเป็นเสื้อที่นักสะสมตามซื้อเก็บ หรือ แม้แต่ช่วงนั้นนิยมผ้าแบบไหน เช่น บ้านเราเรียก ผ้ากัด (acid wash) ใช้น้ำยากัดผ้าดำ ให้ออกมามีลายด่าง ๆ ดูวินเทจมากๆ กำลังในช่วงฮิต ติดกระแส ราคาเสื้อแนวนี้ก็จะสูงขึ้น ถ้าเสื่อมความนิยมแล้ว ราคาก็จะปรับลง
.
สภาพของตัวเสื้อ อันนี้ก็สำคัญเป็นตัวเรียกราคาได้ ถ้าสภาพเสื้อมีตะเข็บการเย็บ เรียบร้อยสมบูรณ์ ด้ายไม่หลุดรุ่ย ไม่ขาด หรือมีรูมดเล็ก ๆ สีของเสื้อไม่ซีดจาง
ป้ายยี่ห้อที่คอเสื้ออยู่ครบ สกรีนเต็มสมบูรณ์ ไม่แตกหลุด หรือมีคราบเลอะ ยิ่งถ้าเป็นเสื้อที่เจ้าของเก็บมาอย่างดี ไม่เคยสวมใส่ ไม่เคยผ่านน้ำ เสื้อจะยิ่งมีราคากว่าเสื้อที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว เสื้อบางตัวผ่านการใช้งานมาอย่างหนัก แต่ถ้าเป็นเสื้อวงที่หายาก เสื้อตัวนั้นยังคงเป็นที่ต้องการของนักสะสมอยู่
.
นอกจากเสื้อวงที่เป็นที่นิยมแล้ว เสื้อทัวร์คอนเสิร์ตก็เป็นที่นิยมไม่แพ้กัน โดยจะมีการสกรีนรายละเอียดสถานที่ เช่น เมืองที่ไปทัวร์คอนเสิร์ตปีนี้ ลงไปในเสื้อด้วย รายได้จากขายเสื้อทัวร์นี้ สำหรับบางวงค่อนข้างสูง สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับวงเลยทีเดียว บางครั้งก็ทำหมวก และของที่ระลึกออกมาขายควบคู่ไปด้วย
.
สำหรับการออกแบบเสื้อทัวร์ บางครั้งใช้แมสคอตประจำวงออกแบบคู่กับโลโก้วง เช่น เสื้อ Gun N Roses มีโลโก้เป็นรูปปืนคู่ กับดอกกุหลาบ, The Rolling Stones เป็นรูปแลบลิ้น และ Megadeth มี Vic Rattlehead โครงกระดูกสวมสูทเป็นแมสคอตประจำวง บางครั้งก็ใช้ปกอัลบั้ม หรือ ครีเอทลายสกรีนขึ้นมาใหม่ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการทัวร์ในครั้งนี้ เหล่าบรรดาแฟน ๆ ที่ไปชมคอนเสิร์ตทุกปี ต่างก็จะใส่เสื้อทัวร์ของปีก่อนกลับมาร่วมชมคอนเสิร์ต เสื้อทัวร์เป็นอีกสิ่งนึง ที่สื่อถึงความรัก ความชื่นชมในวงดนตรีวงโปรด แสดงออกถึงความเป็นแฟนพันธุ์แท้ของวงร็อคได้อีกทาง
.
สำหรับเทคนิคง่าย ๆ ในการเลือกซื้อว่าเสื้อวงหรือเสื้อทัวร์เป็นงานแท้ มีอยู่หลายจุด ที่เราไม่ควรละเลยมองข้าม จะได้เสื้อวินเทจของแท้มาใส่กัน โดยไม่เจ็บใจทีหลัง ว่าพลาดไปแล้วค่ะ
.
หลักเกณฑ์เบื้องต้นในการสังเกต เลือกซื้อเสื้อวง
.
ดูจากการเย็บตะเข็บ ถ้าต้องการซื้อเสื้อวงที่ผลิตในยุค '70 ไปจนถึงกลาง '90 ยุคนั้นจะเป็นยุคที่ใช้วิธีการทอขึ้นมาเป็นตัวเสื้อ ไม่มีตะเข็บข้าง มาเย็บติดแขนภายหลัง ที่ตะเข็บบ่า จะเป็นตะเข็บเดี่ยว เดินด้ายเดี่ยวไม่คู่เหมือนปัจจุบัน รวมไปถึงขอบแขนและชายเสื้อด้วยที่เดินด้ายเดี่ยว
.
ในส่วนของเนื้อผ้า ถ้าเป็นยุค '90 ลงมาส่วนใหญ่จะเป็นผ้า 50/50 ซึ่งหมายความว่า ส่วนผสมผ้าคอนตอน 50% และผ้าโพลีเอสเตอร์ 50% บางครั้งอาจจะมีเรยอนผสม เรียกกันว่าผ้าสามเนื้อซึ่งจะนุ่ม ใส่สบายและนิยมมากในหมู่นักสะสม เรียกว่า ผ้าบาง ราคาจะสูงขึ้นไปอีก ส่วนเสื้อในยุค 2000 มักจะเป็นผ้าคอตตอน 100% เนื้อผ้าจะแตกต่างออกไปจากเสื้อวินเทจในยุคเก่า
.
ป้ายที่คอเสื้อ จะเป็นแบรนด์เสื้อยืดในยุคเก่า แบรนด์นั้น ๆ จะมีโลโก้ที่แตกต่างออกไปตามยุคสมัย ซึ่งทำให้นักสะสมสามารถสังเกตได้ว่า เป็นป้ายในยุค '70, '80, '90 หรือ 2000 เสื้อวงในยุคแรก '70-'90 นั้น จะเป็นการซื้อเสื้อจากบริษัทเสื้อยืดมาแล้วทางวงดำเนินการสกรีนเอง เสื้อเหล่านั้นมียี่ห้อต่าง ๆ หลากหลาย เช่น Screenstar, Hanes, Fruit of the Loom, Anvil, Oneita, Sportsman, Stedman, Giant ฯลฯ
แต่มีอยู่บ้างที่ ผู้ขายร้านค้าปลีกตั้งใจจะหลอกลวงผู้ซื้อด้วยการซื้อเสื้อเก่า แต่นำมาสกรีนใหม่เป็นลายที่ได้รับความนิยม ราคาสูง เวลาเลือกซื้อควรจะดูลายสกรีนประกอบด้วยว่า แจ่มชัดเกินไป หรือ ราคาถูกผิดสังเกตหรือไม่
.
ทางที่ดีสำหรับมือใหม่ที่เพิ่งจะเล่น หรือเริ่มสะสมเสื้อวง ควรจะเห็นเสื้อด้วยตาตนเองก่อนตัดสินใจ จ่ายเงินออกไป หากมีผู้รู้ หรือ ผู้ชำนาญที่มองขาดว่าเป็นเสื้อวงของแท้ หรือ ของทำเลียนแบบขึ้นมาใหม่ ก็จะเป็นการดีที่สุด เพราะเราจะได้ไม่เสียเงินแพง ๆ โดยใช่เหตุ และเสียความรู้สึกในภายหลัง สำหรับผู้ที่เป็นนักสะสม หรือชื่นชอบการได้ใส่เสื้อวงดนตรีที่ตนรักนั้น เป็นความสุขที่ยากจะบรรยายออกมาเป็นถ้อยคำ กับการได้สวมใส่เสื้อวงดนตรีแท้ ๆ แล้วนั่งจิบกาแฟฟังเพลงร็อควงโปรด เป็นความสุขเล็ก ๆ ที่ยิ่งใหญ่เลยทีเดียว

.

สนใจสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับเสื้อยืดแฟชั่น เสื้อวินเทจตามมาที่ลิ๊งด้านล่างได้เลย

เว็บไซต์: https://www.blaxroxx.com/

เฟสบุ๊ค: https://www.facebook.com/blaxroxx/

IG: https://www.instagram.com/blaxroxx/

LINE: https://lin.ee/zcO7Gcy